ชิโกกุอินุ (四国犬) เป็นสายพันธุ์ของสุนัขขนาดกลางที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคชิโกกุ (四国地方) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดโคจิ (高知県) มันเป็นสุนัขญี่ปุ่นสายพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์หนึ่งที่เดิมมีชื่อเรียกว่า “โตซาอินุ (土佐犬)” มาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างจากสุนัขต่อสู้ที่มีชื่อเรียกสายพันธุ์เหมือนกันว่า “สุนัขต่อสู้ โตซา (土佐闘犬)” และเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับ “สุนัขต่อสู้ โตซา” จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ชิโกกุอินุ (四国犬)” ซึ่งเป็นหนึ่งในสุนัขหกสายพันธุ์แท้ญี่ปุ่น ได้แก่ อาคิตะอินุ (秋田犬), ไคเค็นอินุ (甲斐犬), คิชูอินุ (紀州犬), ชิบะอินุ (柴犬) และฮอกไกโดอินุ (北海道犬) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนแห่งอนุสรณ์สถานธรรมชาติ (天然記念物) ในวันที่ 15 มิถุนายน 1937 (โชวะปีที่ 12) โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษา วัฒนธรรม, กีฬา, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
เดิมเลี้ยงไว้เพื่อการล่ากวางและหมูป่าในหมู่บ้านบนภูเขารอบๆ ภูเขาชิโกกุ (四国山) และช่วยงานอื่นๆ มีความแข็งแกร่งทางกายภาพและความอดทนที่สามารถทนต่อการล่าสัตว์ในภูเขา ทนต่อสภาพอากาศที่อบอุ่นและชื้นได้ดี สันนิษฐานกันว่ารากเหง้าบรรพบุรุษของสุนัขพันธุ์นี้คือสุนัขยุคสมัยยาโยอิ (弥生時代) สืบเนื่องจากการขุดพบซากโครงกระดูกที่มีโครงประกอบเดียวกันนั่นเอง
ชิโกกุเป็นสุนัขที่มีความอดทนโดดเด่นกระตือรือร้นในความรู้สึกไร้เดียงสา มีพลังและตื่นตัวอย่างมาก เขาเป็นนักล่าที่กระตือรือร้นและเชื่องต่อเจ้านายของเขา พวกเขามีความภักดีต่อเจ้านายเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ดีที่เฝ้าระวังคนแปลกหน้าอยู่เสมอ ชิโกกุอินุเป็นสุนัขที่มีกล้ามเนื้อที่สมดุลและได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี เขามีหูแหลมและหางขดหรือเคียว มีโครงสร้างของกระดูกที่มีความแข็งแรงดีมากและมีขนสองชั้นโดยขนชั้นนอกจะค่อนข้างกระด้างและตรง ส่วนขนชั้นในนั้นนิ่มและแน่น และขนบนหางของเขาจะยาว และสีขนมักจะเป็นสีแดง ดำและน้ำตาล หรืองาซึ่งเป็นสีที่ผสมกันอย่างดีของขนสีดำแดงและขาว สายพันธุ์ของพวกเขาเดิมมาจากสามสายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ฮงคาวะ (本川系), สายพันธุ์ฮะตะ (幡多系) และสายพันธุ์อะกิ (安芸系) ซึ่งชื่อสายพันธุ์ทั้งหมดนี้ถูกตั้งชื่อตามพื้นที่ที่พวกเขาได้อาศัยอยู่ โดยปัจจุบันนี้สายพันธุ์ฮงคาวะ (本川系) ถือเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ในระดับสูงสุดของพวกเขา
ความสูงเฉลี่ย : 17-22 นิ้ว
น้ำหนักเฉลี่ย : 35-55 ปอนด์ (16-25กิโลกรัม)
อายุขัยเฉลี่ย : 10-12 ปี
ขอบคุณภาพจาก : https://ja.wikipedia.org , https://www.akc.org