มิยะโมะโตะ มุซะชิ (宮本 武蔵) เกิดในสมัยปีเทนโชที่ 12 (天正12年) ตรงกับค.ศ.1584 ที่เมืองฮะริมะ (播磨国) จังหวัดเฮียวโงะ (兵庫県) ในปัจจุบัน เป็นสุดยอดซามูไรแห่งยุค เป็นนักดาบ นักกลยุทธ์การรบที่ไม่รู้จักคำว่าแพ้ นักศิลปิน นักปราชญ์ในต้นยุคสมัยเอโดะ (江戸時代初期) และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักดาบคู่ Niten-Ichi-Ryuu-School (二天一流兵法) ด้วยการใช้ดาบ 2 มือ ภายใต้ตำราแห่งภูมิปัญญาที่เรียกว่า “คัมภีร์ห้าห่วง (五輪書)” และปรัชญานักรบที่ชื่อว่า “วิถีแห่งความโดดเดี่ยว (独行道)” อันเป็นหลักธรรมแห่งปรัชญาชีวิตบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ผสมผสานศิลปะแห่งการต่อสู้ในวิถีของเขาเองทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ซึ่งถือเป็นตำรากลยุทธ์เชิงบูรณาการที่สำคัญของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับตำราพิชัยสงครามซุนวูของจีน
มุซะชิ ผู้เขียนคัมภีร์ห้าห่วง
รู้จักหนึ่งจึงเข้าใจหมื่น
一芸、万事に通ず
From One Thing know Ten
Thousand Things
มิยะโมะโตะ มุซะชิ นักดาบสมัยเอโดะ เขียนหนังสือ “คัมภีร์ห้าห่วง” ภายใต้โครงสร้างความคิดเชิงหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาอันเป็นผลมาจากการปฎิบัติธรรมแบบลัทธิเซนของเขานั่นเอง โดยแบ่งกลยุทธ์หรือยุทธวิธี (兵法) ของหลักวิชาต่างๆ ออกเป็น 5 เล่ม ประกอบด้วย ดิน (地) น้ำ (水) ไฟ (火) ลม (風) และความว่าง (空) ที่มุซะชิได้ผสมผสานกับทัศนคติอันหลากหลายที่ผ่านการสะสมและกลั่นกรองประสบการณ์ออกมาในหลักวิถีกลยุทธ์เชิงบูรณาการได้อย่างสมบูรณ์โดยแท้ …..มุซะชิเป็นซามูไรชั้นต่ำเข้าร่วมรบสงครามในฐานะ ”ทหารเลว” กับฝ่ายตะวันตกเนื่องจากภูมิลำเนาและสายสัมพันธ์ของเขาอยู่ในฝ่ายตะวันตกที่กำลังจะแพ้สงครามใหญ่ที่ทุ่งเซกิงาฮาร่า…สงครามแย่งชิงแผ่นดิน…..ได้ยุติลงแล้ว เจ้าเมืองไดเมียวฝ่ายทัพตะวันตกถูกทำลายอย่างย่อยยับทำให้มี “โรนินหรือซามูไรไร้สังกัด” เกิดขึ้นนับหลายหมื่นคน (ไม่ต่างจากคนว่างงานในยุคปัจจุบัน) ออกเดินทางประลองเพลงดาบแสดงผลงานให้เป็นที่ร่ำลือโดยใช้ชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อหาเจ้านายใหม่หรือสังกัดใหม่ชุบเลี้ยงในการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสง่างามต่อไป โรนินเหล่านี้รวมถึงมุซะชิด้วยต่างก็ออก “ล่าฝันการเป็นยอดฝีมือดาบ” ให้เป็นที่กล่าวขานกันทั่วทั้งแผ่นดิน
เพื่อการมีชีวิตอยู่รอดนั้น ได้หล่อหลอมให้มุซะชิทุ่มเทเวลาและพลังกายพลังใจฝึกฝนตนเองอย่างไม่หยุดหย่อนที่จะค้นหาความสามารถในการที่จะรบชนะต่อคู่ต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดาบ กลยุทธ์ ศาสตร์ความรู้ด้านต่างๆ ทั้งเรื่องการรบ การทหาร การเมือง งานศิลปะ และที่สำคัญที่สุด คือ สมาธิ (ในแนวเซน) เพราะหากใจไม่สงบก็อาจพบจุดจบด้วยคมดาบเดียวเพียงชั่วอึดใจ
มุซะชิใช้เวลาเขียน “คัมภีร์ห้าห่วง” อยู่สองปี (ค.ศ. 1643-1645) ในถ้ำเล็กๆ ที่ชื่อว่า เรงันโด (霊巌洞) ซึ่งอยู่ด้านในสุดของวัดอุนงันเซ็นจิ (雲巌禅寺) ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเพียง 7 วันเท่านั้น เสมือนเป็น “พินัยกรรม” ที่เขาเขียนทิ้งไว้เพื่อให้เป็นหลักคิดในการ “ถ่วงดุล” ที่เรียกว่า Nitenryuu (二天流) ที่ผู้คนในยุคสมัยนั้นลุ่มหลงบูชาอำนาจและความมั่นคงในชีวิตเป็นหลักสำคัญโดยไม่เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตในวิถีทางอื่นที่แตกต่างออกไป…. ซึ่งมุซะชิได้เขียนคำอธิบายนี้ไว้อย่างละเอียดในแต่ละเล่มผ่านออกมาทางการตีดาบ, วิถีของการใช้ดาบ, วิธีการถือดาบ, วิธีการประสานใจกับดวงตาให้เป็นหนึ่ง, การวางเท้า, การเว้นระยะห่างกับศัตรู และในเล่มสุดท้าย “ความว่าง (空)” มีสาระสำคัญของการเป็นอิสระจากวิถีกลยุทธ์เพื่อก้าวเข้าสู่สภาวะอันลึกล้ำของจิต ที่เรียกว่า วิถีแห่งสุญตา…ธรรมดาและเรียบง่ายอย่างแท้จริง……
ดิน (地) มุซะชิกล่าวไว้ว่า การที่จะรู้ถึงวิถีที่แท้จริงนั้น จะต้องรู้ทั้งที่ใหญ่ที่เล็ก ที่ตื้นที่ลึก ที่หนาที่บาง เสมือนกับการย่ำพื้นดินบนเส้นทางที่ตรงดิ่ง
น้ำ (水) มุซะชิเรียนรู้ยุทธวิธีต่างๆ จาก “น้ำ” โดยเฉพาะการฝึกจิตใจของเขาด้วยการทำใจให้เป็นดั่งน้ำ เนื่องจากน้ำสามารถปรับตัวเข้ากับภาชนะได้ทุกชนิด ทุกประเภท และน้ำยังสามารถดำรงอยู่ได้แม้เพียงหยดน้ำค้างหยดเดียว หรือจะดำรงอยู่เป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ก็ได้ เขาจึงเลือกใช้คุณสมบัติของน้ำเป็นสัญลักษณ์แทนหลักกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ของสำนักของเขา มุซะชิกล่าวว่า เมื่อใดที่ฝึกฝนหลักวิทยายุทธ์จนสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ตามลำพังได้ดั่งใจปรารถนาแล้ว ย่อมที่จะสามารถชนะคนทั้งโลกได้ด้วยหลักการเดียวกัน เพราะใจที่มีชัยเหนือคนคนหนึ่งย่อมเป็นใจเดียวกับใจที่มีชัยชนะเหนือข้าศึกศัตรูนับพันนับหมื่น ดั่งคำสอนที่ว่า “รู้จักหนึ่งจึงเข้าใจหมื่น (一芸、万事に通ず/ From One Thing know Ten Thousand Things)” และนี่คือหลักวิชาที่เป็นหลักกลยุทธ์เชิงบูรณาการและพหุปัญญา (Multiple Intelligence) ของมุซะชิ
ไฟ (火) มุซะชิกล่าวว่า ไฟนั้นเหมาะที่จะเป็นสัญลักษณ์ของการสู้รบ เพราะไฟมีความเจิดจ้าอยู่ในตัว จะใหญ่ก็ได้ จะเล็กก็ได้ ซึ่งเสมือนกับการต่อสู้แบบตัวต่อตัว หรือระหว่างกองทัพกับกองทัพ แต่วิถีการรบนั้นก็เป็นหลักวิชาเดียวกัน กล่าวคือ ไฟดวงใหญ่มองเห็นง่าย แต่ไฟดวงเล็กมองเห็นยาก เฉกเช่นเดียวกับการรู้อ่านในเรื่องเล็กๆ อย่างใจของคนคนเดียวจึงยากยิ่งกว่าการรู้อ่านในเรื่องใหญ่ๆ ของคนกลุ่มใหญ่ เขาจึงมุ่งเน้นการหมั่นฝึกฝนใจให้เป็นปกติ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่หวั่นไหวเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันหรือตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน และนี่ก็คือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการรบ
ลม (風) มุซะชิกล่าวว่า ลมก็คือสไตล์หรือลีลาหรือฝีมือในการต่อสู้ของสำนักอื่นๆ นั่นเอง ด้วยมุมมองของเขาที่ว่า หากไม่รู้จักเรื่องของคนอื่นแล้ว จะรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ได้อย่างไร
ความว่าง (空) เล่มสุดท้ายของคัมภีร์ห้าห่วง ที่มุซะชิได้กล่าวไว้ว่า จงเป็นอิสระจากวิถีกลยุทธ์เพื่อก้าวเข้าสู่สภาวะอันลึกล้ำของจิต ที่เรียกว่า วิถีแห่งสุญตา…ธรรมดาและเรียบง่ายอย่างแท้จริง……
“ปรัชญานักรบ” ที่รู้จักกันในชื่อว่า “วิถีแห่งความโดดเดี่ยว (独行道)” ของมุซะชิอีกเล่มหนึ่งที่สำคัญและเป็นพลังเกื้อหนุนภูมิปัญญาของเขาได้อย่างชัดเจน โดยมีทั้งหมด 21 ประการ ดังต่อไปนี้
- จงอย่าใช้ชีวิตที่ขัดกับวิถีแห่งคุณธรรมของชาวโลก (世々の道をそむく事なし)
- ไม่แสวงหาความสุข ความสบาย ความสำราญใส่ตัวราวกับเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต (身にたのしみをたくまず)
- ไม่ยึดติดในทุกๆ สิ่ง (よろずに依怙の心なし)
- คิดถึงเรื่องตัวเองให้น้อย คิดถึงเรื่องส่วนรวมให้มาก (身をあさく思世をふかく思ふ)
- ไม่มีใจโลภตลอดชั่วชีวิตนี้ (一生の間よくしん思わず)
- อย่าเสียใจในภายหลังกับเรื่องราวที่เราได้ทำไปแล้ว (我事におゐて後悔をせず)
- ไม่อิจฉาริษยาผู้อื่นไม่ว่าในกรณีใด (善惡に他をねたむ心なし)
- ไม่เสียใจยามพลัดพรากจากกัน (いづれの道にもわかれを悲しまず)
- ความโกรธ ความคับแค้นใจ ล้วนไม่ดีต่อตนเองและผู้อื่น (自他共にうらみかこつ心なし)
- อย่าให้ความรักมาเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุวิถี (れんぼの道思ひに寄る心なし)
- หนักเอาเบาสู้ (物毎にすきこのむ事なし)
- ไม่คิดสร้างบ้านเรือนใหญ่โต (私宅におゐてのそむ心なし)
- ไม่แสวงหาอาหารที่เลิศรส (身ひとつに美食をこのまず)
- ไม่สะสมของเก่า (末々代物なる古き道具を所持せず)
- ไม่ใช้ชีวิตอย่างงมงาย (わか身にいたり物いみする事なし)
- ไม่เสาะหาสะสมอาวุธเกินความจำเป็น (兵具は各別よの道具たしなまず)
- ไม่เสียดายชีวิต ถ้าจะต้องสละเพื่ออภิมรรค (道におゐては死をいとわす思ふ)
- ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยในเรื่องเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน (老身に財寶所領もちゆる心なし)
- จงเคารพพระพุทธเจ้าและเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่อย่าไปคิดอ้อนวอนให้พวกท่านช่วย (佛は貴し佛をたのまず)
- เสีพชีพได้ แต่อย่าเสียดายศักดิ์ศรีแห่งความเป็นนักรบเป็นอันขาด (身を捨ても名利は捨てず)
- ใจไม่เคยห่างจากวิถีหรือมรรคาของนักรบ (常に兵法の道をはなれず)
นับเป็นความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเชิงลึกด้านระดับจิตใจของมูซาชินั่นเอง ความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของมูซาชิครั้งสำคัญนี้ทำให้ตัวเขาสามารถปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการของความขัดแย้งและอุปสรรคในการต่อสู้เชิงวิถีแห่งกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ จนเข้าสู่โลกแห่งความว่างเปล่าของจิต อันเป็นโลกที่เขาสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาแห่งความจริง ความดี และความงามได้อย่างสมบูรณ์พร้อม โดยการนำเอาสมาธิมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสมดุลในชีวิตประจำวัน
ขอบคุณภาพ : https://kotobank.jp, http://www.geocities.jp, www.yahoo.co.jp, https://www.youtube.com