นางกวัก (เทพปกรณัม)
นางกวัก เป็นเทพีแห่งความเป็นมงคลและโชคลาภตามปรารถนาในตำนานไทยโบราณ เปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกเงินทองโชคลาภ และรักษาสถานที่ที่ประทับอยู่ มีลักษณะเป็นรูปปั้นผู้หญิงสวมเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับอย่างธรรมเนียมไทย นั่งพับเพียบ มือซ้ายวางลงแตะข้างลำตัวหรือวางบนตัก ส่วนมือขวายกขึ้นในระดับที่สูงกว่าปากทำท่ากวักมือหรือเรียกเข้ามาหา มีความหมายว่า ”กินไม่หมด” เพราะเชื่อกันว่าเป็นการกวักมือเรียกทรัพย์นั่นเอง และเป็นที่นับถืออย่างยิ่งในหมู่พ่อค้าแม่ค้าชาวไทยด้วยเชื่อว่าเทพีองค์นี้จะเรียกลูกค้าให้เข้ามาอุดหนุนสินค้าในร้านมากๆ
ปรากฎการหล่อปั้นนางกวักครั้งแรกในราวยุคกรุงศรีอยุธยา โดยมากพบเป็นขนาดบูชา สร้างจากเนื้อโลหะ, ดินเผา หรือสลักจากไม้ ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์การนับถือนางกวักปรากฏชัดเจนขึ้นในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ประเทศสยามมีเศรษฐกิจเฟื่องฟู มีการขยายตัวของกิจการร้านค้าในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองใหญ่ๆ นอกจากนี้ในประเทศญี่ปุ่นยังมีการนับถือแมวกวักหรือมะเนะกิเนะโกะ โดยแมวกวักเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2395 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟู
ตำนานนางกวัก
ย้อนกลับไป 2,500 ปีในสมัยพุทธกาล มีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ สุภาวดี บิดาชื่อ สุจิตพราหมณ์ และมารดาชื่อ สุมณฑา อาศัยอยู่ที่เมืองมัจฉิกาสัณฑ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองสาวัตถีในประเทศอินเดีย ครอบครัวของนางประกอบอาชีพค้าขายซึ่งรายได้แค่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปวันๆ อยู่มาวันหนึ่ง สุภาวดีไปช่วยครอบครัวขายของที่ตลาด จึงได้มีโอกาสพบพระกัสสปะเถระเจ้า ซึ่งในขณะนั้นท่านกำลังแสดงธรรมเทศนา นางมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการฟังธรรมเป็นอย่างมาก พระกัสสปะเถระ จึงประทานพรให้แก่นางและครอบครัว
ต่อมานางก็ได้ติดตามไปช่วยบิดาขายของเช่นเคย และได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระสิวลีเถระเจ้า นางสุภาวดีได้ฟังธรรมอย่างตั้งอกตั้งใจจนแตกฉานในหลักธรรมคำสอน เมื่อนางจะเดินทางกลับ พระสิวลีจึงตั้งจิตอธิษฐานประทานพรให้แก่นางและครอบครัว หลังจากนั้นครอบครัวของนางก็เจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขายประสบความสำเร็จเพราะได้รับพรจากพระอรหันต์ถึงสององค์
บิดาของนางจึงมักให้นางไปช่วยค้าขายด้วยเสมอ เพราะเชื่อว่านางเป็นสิริมงคลที่ช่วยให้การค้าขายดี หลังจากนางเสียชีวิตลง ชาวบ้านก็ได้สร้างรูปนางสุภาวดีเพื่อบูชา ขอให้ทำมาค้าขายดี ประสบความสำเร็จ และต่อมาความเชื่อนี้จึงได้แพร่เข้ามาในประเทศไทยจนเป็นที่นิยมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
แมวกวัก มะเนกิเนะโกะ
แมวกวัก (招き猫・Maneki-neko) คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า แมว เป็นสัตว์นำโชคมาตั้งแต่สมัยเอโดะ (พ.ศ. 2186 – พ.ศ. 2411) และได้รับเผยแพร่ให้รู้จักกันในวงกว้างจากหนังสือพิมพ์เล่มหนึ่งในสมัยเมจิ (พ.ศ. 2413) ว่า “แมวกวัก หรือ มะเนกิเนะโกะ” ถูกพบเห็นในศาลเจ้าแห่งหนึ่งของเมืองโอซาก้า โดยมีตำนานที่กล่าวถึงเจ้า มะเนกิเนะโกะ อยู่หลายตำนานด้วยกัน แต่ตำนานเรื่องราวที่ขึ้นชื่อมากสุด คือ….. ในยุคเอะโดะ มีหญิงชราคนหนึ่งยากจนมาก แต่นางมีแมวเลี้ยงอยู่ตัวหนึ่งและรักแมวมาก มีกินก็กินร่วมกับแมว อดก็อดพร้อมกับแมว จนในที่สุดก็ไม่สามารถเลี้ยงไหว จึงนำไปปล่อย ในคืนนั้นเอง นางก็นอนเสียใจร้องไห้ทั้งคืน กระทั่งฝันว่าแมวมาบอกกับนางว่า ให้ปั้นรูปแมวจากดินเหนียวแล้วนางจะโชคดี เช้าวันรุ่งขึ้น หญิงชราจึงตื่นขึ้นมาปั้นแมวจากดินเหนียว ไม่ทันไรก็มีคนแปลกหน้าเดินผ่านหน้าบ้านขอซื้อตุ๊กตาแมวตัวนั้นจากนางไป จากนั้นนางก็เพียรปั้นแมวขึ้นมาอีกตัวแล้วตัวเล่า ตุ๊กตาแมวจากการปั้นของนางก็มีผู้มาขอซื้อไปตลอดเวลา นางจึงเริ่มมีเงินทองจากการขายตุ๊กตาแมว และสามารถนำแมวเลี้ยงสุดที่รักของนางกลับมาเลี้ยงได้อีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นที่ร่ำลือว่า แมวเป็นสัตว์นำโชค และมีการปั้นและวางแมวกวักไว้ตามที่ต่างๆ…..
แมวกวัก หรือ มะเนกิเนะโกะ เป็นรูปปั้นแมวตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นว่าจะนำโชคลาภให้แก่เจ้าของ สำหรับร้านค้าก็จะดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านเช่นเดียวกับนางกวักของไทย หน้าตาของแมวกวักคล้ายคลึงกับแมวพันธุ์พื้นเมืองของญี่ปุ่นชนิดหนึ่งที่ไม่มีหางที่เรียกว่า เจแปนิสบ๊อบเทล (Japanese Bobtail)
ปัจจุบัน ในประเทศญี่ปุ่นหรือแม้แต่ในประเทศไทยเองก็ตาม สามารถพบเห็นแมวกวักอยู่ทั่วไป มีหลากหลายขนาดและสีสัน บางส่วนก็ทำกลไกให้มือซ้ายสามารถขยับในลักษณะกวักเข้าหาตัวได้ด้วย ในขณะที่มืออีกข้างนึงก็ถือเหรียญไว้ เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าแมวที่เลี้ยงไว้ยกขาหน้าขึ้นเสมอหูข้างซ้ายแล้ว จะมีคนมาหา ถ้าเป็นร้านค้าก็จะมีลูกค้าเข้าร้าน
招き猫 (Maneki neko) มาจากคำว่า 招き (Maneki) แปลว่า “เชื้อเชิญ” กับคำว่า 猫 (Neko) แปลว่า “แมว” นำมารวมกันมีความหมายตรงตัวว่า แมวกวัก (เชื้อเชิญ) หรือแมวนำโชคนั่นเอง และคนญี่ปุ่นได้นำคำมาพ้องกับวิธีการออกเสียงของตัวเลข จึงกลายมาเป็น “วันแมวกวัก (招き猫の日・Maneki neko no hi)” ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี
招き猫の日 (Maneki neko no hi)
「く(9)るふ(2)く(9)」= 29/9 => 来る福 (kuru fuku)
Kuru แปลว่า “มา” และ Fuku แปลว่า “ความโชคดี”
= ความโชคดี ความร่ำรวย จงมาสู่เรา =
นอกจากนี้แล้ว แมวกวัก หรือ มะเนะกิเนะโกะ ยังมีความหมายแตกต่างกันไปตามลักษณะท่าทางและสีของตัวแมวตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
ความหมายตามลักษณะท่าทางและสีของแมวกวักญี่ปุ่น
- แมวที่ยกเท้าขวาขาหน้าขึ้นบน (右手上げは「金運招来」と言われている) = ช่วยเรียกเงินทองและโชคลาภมาให้
- แมวที่ยกเท้าซ้ายขาหน้าขึ้นบน (左上げは「千客万来」と言われている) = ช่วยเรียกลูกค้าให้เข้าร้านมากๆ
- แมวที่ยกเท้าทั้งสองข้าง หมายถึง การกวักเรียกทั้งเงินทอง โชคลาภ และเรียกลูกค้าให้เข้าร้านไปพร้อมๆ กัน
- แมวถือลูกแก้ว, แมวพนมมือ หมายถึง การขอพร
- แมวสีขาว ที่ยกเท้าซ้ายและขวาขาหน้าขึ้นบน เรียกโชคชะตา
- แมวสีดำ ที่ยกเท้าซ้ายขวาขาหน้าขึ้นบน ปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากโรคร้าย
- แมวสีทอง ที่ยกเท้าซ้ายขาหน้าขึ้นบน ทำให้ร่ำรวยมีเงินหมื่นเงินแสน
- แมวสีเงิน ที่ยกเท้าซ้ายขาหน้าขึ้นบน ช่วยให้มีอายุยืนยาว
- แมวสีแดง ที่ยกเท้าซ้ายขาหน้าขึ้นบน รักษาความเจ็บป่วยและโรคร้ายของเด็ก
- แมวสีชมพู ที่ยกเท้าซ้ายขาหน้าขึ้นบน เรียกความรักและคู่ครองที่ดี
- แมวสีเหลืองที่ยกเท้าซ้ายขาหน้าขึ้นบน ทำให้คู่ครองอยู่กันจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร
- แมวไม่มีสีไม่มีลาย ที่ยกเท้าซ้ายขาหน้าขึ้นบน ช่วยในเรื่องความฝันและความหวังให้เป็นจริง
- แมวสีน้ำเงินหรือสีฟ้า ที่ยกเท้าซ้ายขาหน้าขึ้นบน ช่วยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ
- แมวสีเขียว ที่ยกเท้าซ้ายขาหน้าขึ้นบน ช่วยเรื่องการเรียน
ขอบคุณรูปภาพจาก : http://thinnakon999.blogspot.com, www.9chaichana.com, https://th.wikipedia.org, https://th.wikipedia.org