เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้พูดคุยกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น…. บวกกับตัวเองก็มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นที่มาเปิดธุรกิจในบ้านเรา ทำให้ได้มีโอกาสสัมผัสกับสไตล์ วิถี และสภาพแวดล้อมการทำงานที่แท้จริงของญี่ปุ่น….เลยไม่พลาดที่จะนำประสบการณ์ดีๆ มาแชร์กัน
โดยวันนี้เราจะขอเริ่มต้นจาก “โฮเรนโซ (報・連・相)” ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักในการทำงานของคนญี่ปุ่น โดยยึดเป็นหลักปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับทุกๆ องค์กร
ในสังคมการทำงานของบริษัทญี่ปุ่นโฮเรนโซ(報・連・相) เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การทำงานขององค์กรประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำมาปรับใช้ในการบริหารงาน บริหารคน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการรายงาน การติดต่อประสานงาน และการปรึกษาหารือกันในองค์กร ในหน่วยงาน โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และปัญหาที่พบเจอในการทำงานนั่นเอง
แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า โฮ เรน โซ (報・連・相) คืออะไร ? และมีความหมายอย่างไร ?
คำว่า โฮเรนโซ (報・連・相) เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1986 โดยอดีตประธานของ SMBC Friend Securities เป็นผู้คิดค้นขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่
และที่แน่ๆ มันไม่ใช่คำพ้องเสียงโฮเรนโซ(ほうれんそう)” ที่แปลว่า “ผักปวยเล้ง” แต่มันเป็นตัวอักษรตัวแรกของ 3 คำมารวมกัน ได้แก่
“โฮ – 報” มาจากคำว่า 報告 (houkoku แปลว่า การรายงาน) หมายความว่า จะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานและความคืบหน้าของงานที่ตนรับผิดชอบให้กับผู้สั่งงานหรือผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างชัดเจน อาจจะรายงานตอนเสร็จสิ้นหรือรายงานเป็นระยะๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์การทำงานปัจจุบัน ซึ่งหากพนักงานคนไหนมีปัญหาในการทำงานอย่างไร ก็สามารถเสนอและรายงานผลงานในที่ประชุมได้ โดยถือเป็นการแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกันหรือจะเรียกได้ว่า การทำงานเป็นทีม ก็ได้
“เรน – 連” มาจากคำว่า 連絡 (renraku แปลว่า การติดต่อ สื่อสาร การประสานงาน) หมายความว่า จะต้องแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้ผู้สั่งงานหรือผู้เกี่ยวข้องทราบ เช่น แจ้งกำหนดการ แจ้งการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
“โซ – 相” มาจากคำว่า 相談 (soudan แปลว่า การปรึกษาหารือ ขอคำแนะนำ ขอความเห็น) หมายความว่า การปรึกษา การขอคำชี้แนะในการทำงานกับผู้สั่งงานหรือผู้เกี่ยวข้อง ถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างทำงานพร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไข รวมทั้งการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นซ้ำให้กับผู้ให้คำปรึกษาช่วยพิจารณาด้วย
แล้วไว้เจอกันในคราวหน้าที่จะมาแชร์ให้เพื่อนๆ ฟังเกี่ยวกับเรื่อง “5G เพื่อการบริหารจัดการ” ว่าคืออะไร แล้วมีประโยชน์อย่างไรกับการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นกันบ้างนะคร่าา
ขอบคุณภาพจาก : https://www.eigyoh.com, https://kogusoku.com, http://horenso.me, http://www.digital-sense.co.jp, http://decoc.jp