ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับแมลงปอ

แมลงปอ คือสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งความกล้าหาญ และความรัก อีกทั้งยัจักรพรรดิจินมุซึ่งมีความผูกพันกับแมลงปอ จนตั้งชื่อเมืองไว้ว่า...

สวัสดีครับเพื่อนๆ พอดีเมื่อวานบังเอิญมีแมลงปอตัวใหญ่บินเข้ามาในบ้านของผม ขณะที่ผมกำลังมองดูเจ้าแมลงปอบินอยู่ว่ามันจะบินไปทางไหนหน๋อ ก็ฉุกคิดถึงความสัมพันธ์ของชาวญี่ปุ่นกับแมลงปอขึ้นมาทันที ผมเลยขอแชร์ข้อมูลนิดนึงว่าทำไม แมลงปอหรือในภาษาญี่ปุ่นว่า โทมโบะ (トンボ)จึงมีความผูกพันลึกซึ้งกับชาวญี่ปุ่น แล้วทำไมถึงได้มาเป็นสัตว์นำโชคตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า แมลงปอ คือสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งความกล้าหาญ และความรัก อีกทั้งยังมีจักรพรรดิของญี่ปุ่นพระองค์หนึ่งตามตำนานที่มีชื่อว่า จักรพรรดิจินมุ (神武天皇)ซึ่งมีความผูกพันกับแมลงปอ จนตั้งชื่อเมืองไว้ว่า อะคิทสึชิมะ(秋津洲)ซึ่งหมายความว่า เกาะของแมลงปอ

“อะคิทสึ (秋津)” หมายถึงเรื่องราวของแมลงปอเกาะอะคิทสึ เดิมทีเป็นภูมิภาคหนึ่งในยามาโตะ (大和の一地方)แต่ต่อมาก็กลายเป็นชื่อแคว้นยามาโตะ(大和国) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันคือจังหวัดนารา

ภูมิทัศน์บนเกาะอะคิทสึ (秋津洲)
ภูมิทัศน์บนเกาะอะคิทสึ (秋津洲)

นอกจากนั้นยังพบภาพวาดของ แมลงปอ และตั๊กแตนตำข้าวบนระฆังทองเหลืองในสมัยยาโยอิ (ราวสองศตวรรษก่อนคริสต์ศักราชถึงคริสต์ศตวรรษที่สาม) นักประวัติศาสตร์ จึงเชื่อว่าภาพแมลงที่อยู่บนระฆังเป็นเสมือนคำสวดอ้อนวอนให้มีการเก็บเกี่ยวได้ผลดี เพราะแมลงเหล่านี้จะจับแมลงที่กัดกินทำลายต้นข้าวจึงมีประโยชน์ต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก

ตำนานความสัมพันธ์กับแมลงปอมาตั้งแต่โบราณกาล

จากข้อมูลของนิฮอนโชะคิ (日本書紀) มีบันทึกเรื่องราวของแมลงปอตั้งแต่ยุคสมัยของจักรพรรดิจินมุ (神武天皇) ผู้มีมุมมองแบบพาโนรามาของญี่ปุ่นได้กล่าวในที่ประชุมสภาครั้งหนึ่งไว้ว่า “ประเทศนี้มีรูปร่างคล้ายแมลงปอที่กำลังผสมพันธุ์ (この国はトンボの交尾のような形をしている)” และแมลงปอหรือโทมโบะ (トンボ) ในภาษาญี่ปุ่นก็ได้รับการขนานนามว่า อะคิทสึ (秋津) โดยจักรพรรดิจินมุตั้งแต่นั้นมา

ภาพเขียนองค์จักรพรรดิจินมุ (神武天皇) ที่เมืองมิยาซากิ

ต่อมาในยุคสมัยจักรพรรดิยูเรียคุ (雄略天皇) ก็มีความคุ้นเคยกับแมลงปอ ตามที่อนุกรมเรื่องราวยุคสมัยโบราณ หรือโคจิคิ (古事記) ได้บันทึกความตอนหนึ่งไว้ว่า จักรพรรดิยูเรียคุเสด็จไปที่โยชิโนะมิยะ (吉野宮) เพื่อตามล่าหมูป่า การต่อสู้ขณะไล่ล่า พระองค์พลาดท่าถูกหมูป่ากัดเข้าที่แขนเป็นแผลใหญ่ และเมื่อพระองค์กำลังเฝ้ารอให้เหยื่อมาอยู่ในระยะที่จะสามารถยิงได้อย่างไม่พลาด แต่ด้วยแขนที่เป็นแผลถูกกัดจากหมูป่ามันล่อให้แมลงวันมากมายบินเข้ามาตอมและกัดกินแผลจนพระองค์เกือบจะทนไม่ไหว และแล้วในขณะนั้นเองก็มีแมลงปอปรากฎขึ้นเป็นจำนวนมากบินเข้ามาจับกินแมลงวันจนหมดแล้วก็บินจากไป….

หลังจากที่ได้ประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยตัวของพระองค์เอง จักรพรรดิยูเรียคุ จึงตั้งชื่อญี่ปุ่นว่า “อะคิทสึชิมะ (秋津洲)“ที่มีความหมายว่า “เกาะของแมลงปอ” เพื่อเป็นเกียรติแก่แมลงปอ และจากเหตุการณ์ครั้งนี้แมลงปอจึงถูกเรียกว่า “แมลงแห่งชัยชนะ (勝ち虫)” และส่งผลต่อความเชื่อและความนึกคิดของชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากจวบจนถึงปัจจุบันว่าแมลงปอเป็นสัตว์มงคล

แมลงปอเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของเหล่านักรบผู้กล้า

ในยุคสงครามเซ็นโงคุ (戦国時代) แมลงปอในฐานะ “แมลงแห่งชัยชนะ (勝ち虫)” ได้รับความนิยมอย่างมากจากขุนศึกในสงครามเซ็นโงคุ ที่สามารถนำความโชคดีมาให้กับพวกเขาจึงก่อให้เกิดความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่และยังสร้างความเจริญอย่างมากหลังจากนั้น เนื่องจากพวกมันแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของ “ความอมตะ หรือการไม่ถอยหลังกลับ (不退転)” ด้วยการเคลื่อนไหวที่กล้าหาญอย่างต่อเนื่องดั่งเช่นแมลงปอ

เราจะเห็นได้จากตัวอย่าง อิตะงะคิ โนบุคะตะ (板垣信方) ข้าราชบริพารของขุนนาง ทาเคดะ ชินเง็น (武田信玄) ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อนี้ โดยอิตะงะคิ โนบุคะตะ มีการตกแต่งแมลงปอบนชุดนักรบของเขาทั้งหมดตั้งแต่ หมวก กระเป๋าชายเสื้อเกราะด้านหลัง รวมทั้งชุดกิโมโนด้วย และอีกตัวอย่างหนึ่งคือหมวกประจำตำแหน่งชุดออกศึกของ มะเอดะ โทชิอิเอะ (前田利家) ที่ใช้แมลงปอตกแต่งเช่นกัน

เป็นไงบ้างครับเพื่อนๆ พอจะเห็นและเข้าใจว่าแมลงปอ (ซึ่งเริ่มจะไม่ค่อยเห็นเท่าไรนักในปัจจุบัน) นั้นมีความสัมพันธ์กับชาวญี่ปุ่นด้านความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิดอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ เรียกได้ว่าคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ยุคของจักรพรรดิจินมุจนถึงเหล่าขุนนางขุนศึกในยุคเซ็นโงคุเลย…  และผมก็เชื่อว่าเรายังสามารถเห็นความเชื่อและจิตวิญาณในเรื่อง “แมลงปอคือแมลงแห่งชัยชนะ (勝ち虫)” จากมุมมองที่หลากหลายของการดำเนินชีวิตและการบริหารจัดการของคนญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันที่ล้อมรอบไปด้วยเทคโนโลยีที่สุดล้ำ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็นำมาซึ่งความสำเร็จและความเจริญงอกงามนั่นเอง

ขอบคุณรูปภาพจาก : http://www.crafts-hirosaka.jp , https://yamap.com , http://kikihensan.miyazaki-city.tourism.or.jp , https://www.pinterest.com , https://mag.japaaan.com , https://fumakilla.jp