เคนโด้ (剣道) แปลว่า”วิถีแห่งดาบ (Sword Way)” เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชนชาติญี่ปุ่น มีพื้นฐานมาจากการใช้ดาบของพวกซามูไรในสมัยก่อน เริ่มปรากฎในราวค.ศ. 789 (พ.ศ. 1332) เป็นวิชาที่ใช้ดาบไม้ไผ่ในการฝึกด้วยกระบวนท่าการต่อสู้ที่รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาดและต่อเนื่อง ที่แฝงหลักจริยธรรมของนักรบ แนวคิดทางจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนาและลัทธิชินโต ผสมผสานกับรากฐานทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเข้าไว้อย่างลงตัวอีกด้วย เคนโด้ จัดได้ว่าเป็นวิชาการปกครองแขนงหนึ่งของนักรบชนชั้นปกครอง และแพร่หลายไปเป็นวิชาหนึ่งในสถาบันวิชาการปกครองและการทหารต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย จนกระทั่งพัฒนามาเป็นกีฬาเคนโด้ และเป็นที่นิยมไปกว่าเกือบ 30 ประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน
หัวใจหลักของวิชาเคนโด้คือ การผนวก ดาบ จิตใจ และร่างกาย เข้าเป็นหนึ่ง การโจมตีด้วยดาบไม้ไผ่หรือชินัย (Shinai・竹刀) ซึ่งเป็นการประสานจิตและกายไว้เป็นหนึ่งเดียวจนเอาชนะคู่แข่งได้ภายในพริบตานั้นเรียกว่า “ดาบเดียวในหนึ่งก้าว” (ISSOKU- ITTO・一足一刀) ซึ่งถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่อันเกิดจากการใช้พลังเพียงนิดเดียว ดังนั้น ผู้ที่ฝึกเคนโด้อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุเพียงไหนก็สามารถใช้หลักการนี้เอาชนะคู่ต่อสู้ที่มีร่างกายแข็งแรงกว่าได้อย่างง่ายดาย
เคนโด้ …..เป็นมาอย่างไร
ในปีค.ศ. 789 มีการกล่าวถึงความเป็นมาของวิชาดาบเคนจัตซึและคุมิตาชิ โดยเชื่อว่าเป็นวิชาดาบที่มีไว้สำหรับบุตรชาย และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เคนโด้ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาพร้อมกับซามูไรในสมัยเฮอันเคียว (ค.ศ. 794 – ค.ศ. 1185) ซึ่งมีการบันทึกจากเหล่าขุนนางไว้ว่า “ณ เมืองเกียวโตจะมีการจัดงานเทศกาลเป็นประจำทุกปี และจัดให้มีการแข่งขันคุมิตาชิเสมอ” สันนิษฐานว่าวิชาดาบคุมิตาชิอาจย้อนไปถึงสองพันปีก่อนและมีที่มาจากประเทศจีนโดยผ่านมาทางเกาหลีเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น
หลังจากที่เริ่มมีการแบ่งส่วนที่ดินให้แก่เจ้าขุนมูลนายหรือพวกไดเมียว ทำนองเดียวกับศักดินาจากราชสำนักในเกียวโตได้กระจายไปทั่วญี่ปุ่น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของราชสำนักในการปกครองแผ่นดินไปสู่เจ้าขุนมูลนายหรือพวกไดเมียว
ต่อมาขุนนางที่รั้งตำแหน่งปกครองสืบตระกูลเป็นแว่นแคว้นน้อยใหญ่ย่อมต้องมีกองทหารคอยรักษาผลประโยชน์ที่ดินและทรัพย์สินรวมไปถึงการรักษาไว้ซึ่งอำนาจการปกครอง ข้ารับใช้หรือซามูไรที่มีหน้าที่ปกป้องที่ดินได้พัฒนากองทหารเรื่อยมาจนกลายเป็นลัทธิทางทหารบูชิโดที่มีความซับซ้อนสูงต่ำตามตำแหน่งและหน้าที่ราชการ โดยหนึ่งในการพัฒนากองทหารเหล่านั้นก็คือการพัฒนาวิชาดาบเคนจัตซึ ซึ่งเคนจัตซึมีส่วนอย่างมากในการพัฒนารูปแบบวิชาดาบเคนโด้
จวบจนกระทั่งในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – ค.ศ. 1868) วิชาดาบเคนโด้ มีการพัฒนารูปแบบที่เป็นเอกเทศมากขึ้น มีการกำหนดเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ให้เป็นระบบมาตรฐานมากขึ้นและได้รับการใช้กันอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ในยุคนี้เคนโด้ ยังเป็นวิชาดาบอีกแขนงที่แยกออกมาจากเคนจัตซึอย่างชัดเจนอีกด้วย และมีหลักฐานยืนยันว่าเคนโด้เป็นหนึ่งในหลายๆ วิชาที่ใช้ในการสอบเข้ารับราชการแก่ผู้ที่จะมาเป็นซามูไร
อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่สองจากอำนาจการยึดครองของหน่วย SCAP โดยฝ่ายพันธมิตร ได้สั่งห้ามการฝึกเคนโด้เด็ดขาดทั่วญี่ปุ่น เนื่องด้วยกลัวว่าจะเป็นการปลูกฝังลัทธิทางทหารแก่คนญี่ปุ่น แต่หลังสนธิสัญญา San Fransico Peace Treaty เคนโด้จึงถูกนำมาฝึกอีกครั้งในช่วงแรกๆ โดยใช้ชื่อว่า ชินัยเคียวจิ ในปี 1950 และกลับมาเป็นชื่อเคนโด้ อีกครั้งในปี 1952 และได้บรรจุเป็นหลักสูตรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยกันอย่างกว้างขวาง และมีการดัดแปลงแก้ไขกติกาบางอย่างเพื่อให้มีรูปแบบเป็นกีฬามากขึ้นและเพื่อความเหมาะสมแก่ยุคสมัย……
……….ถึงกระนั้นก็ตาม เคนโด้ก็ยังคงไว้ซึ่งปรัชญาทางพระพุทธศาสนาและลัทธิชินโตไว้อย่างลงตัว หากผู้ที่ศึกษามีความตั้งใจอย่างจริงจังจะเห็นความลึกซึ้งของจิตวิญญาณในข้อนี้อย่างแน่นอน
ก่อนจากกันไป มาทำความรู้จักชื่อเรียกส่วนต่างๆ ของเครื่องแต่งกายเคนโด้กันหน่อยดีกว่านะคร้าบ
ขอบคุณรูปภาพจาก : www.yahoo.co.jp